ว่าด้วยเรื่อง การปลูกคะน้านอกฤดู และวันก่อนได้เคยลงบทความเกี่ยวกับ การปลูกคะน้าใบหยัก หรือผักเคล กันไปแล้ว ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจยิ่ง มีคนสนใจอ่านกันมากรวมถึงสอบถามเรื่องเมล็ดพันธุ์ และพันธุ์ปลูก
หากใครยังไม่ได้อ่านก็ลองอ่านกันดู เนื้อหามีครบหมดแล้ว สำหรับวันนี้จะมาให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับ “การปลูกคะน้า” อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ขอเป็น “ผักคะน้า” ที่เรารู้จักกันดี ว่าการปลูกนั้นจะแตกต่างกันหรือมีวิธีการเพิ่มเติมอย่างไร
สำหรับเนื้อหานี้ ไม่ใช่การนำเนื้อหาเก่ามาเรียบเรียงใหม่ แต่เป็นการเขียนใหม่เลยรวมไปถึงแนะนำเกี่ยวกับ การปลูกคะน้านอกฤดู กันเลย และสามารถทำได้จริง เนื่องจากเพราะทดลองแล้วได้ผลในหลังช่วงน้ำท่วมไปไม่นาน
ผักและแปลงปลูกในหลายพื้นที่ หากยังคงมีความเสียหายและต้องการกำลังใจกำลังคนเพื่อเข้าฟื้นฟู แม้ว่าผักคะน้านั้นหากไม่มีพื้นที่ก็อาจปลูกลงกระถางได้แต่คงจะทำรายได้ให้ไม่มากนัก แนะนำว่าหากมีพื้นที่พอ ก็ควรปลูกนอกฤดูแบบไม่ต้องใช้สารเคมี น่าจะเป็นประโยชน์แก่หลายๆ ท่านนำเทคนิคนี้ไปใช้กันดู เริ่มกันเลย
การปลูกผักคะน้าอินทรีย์ นอกฤดูกาล
ในแวดวงคนปลูกผักด้วยกัน ย่อมรู้ดีว่า ผักคะน้า เป็นผักที่ปลูกค่อนข้างยากทีเดียว แม้ว่าจะปลูกลงกระถาง ปลูกในแปลงเพาะ ปลูกแบบขั้นบันได แต่พื้นฐานจริงไม่ได้อยู่ที่รูปแบบการปลูก แต่สิ่งที่ทำให้คะน้าไม่รอดนั้น นอกจากจะเป็นโรคง่ายแล้ว ยังเป็นที่นิยมของหนอนแมลงมากมายอีกด้วย
เพราะสาเหตุนี้เอง ที่ทำให้เวลาปลูกผักคะน้าจึงยาก และราคาในตลาดก็มักสูงกว่าผักชนิดอื่น เพราะต้องมีการดูแลเอาใจใส่มากกว่าผักชนิดอื่นที่ปลูกชิลๆ ได้ โดยเทคนิคการปลูกนี้ รับประกันว่ารอดแน่ เพราะได้แนวทางมาจากคุณ ปฐพี พวงสุวรรณ์ เกษตรกรชุมชนนาคู จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพัฒนาวิธีการปลูกผักคะน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ เลย
ปฐพี พวงสุวรรณ
ที่อยู่ ตำบลบ้านนาคู อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มรวมพลังเกษตรชีวภาพบ้านนาคู รางวัลที่ได้รับ อาทิ ผู้นำอาชีพก้าวหน้าด้านการเกษตร มีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพ ในปี พ.ศ.2549
ปลูกมาก ปลูกเยอะจนเกิดความชำนาญ กระทั่งค้นพบ เคล็ดลับการปลูกคะน้านอกฤดูกาล เป็นผลสำเร็จ โดยเนื้อหานั้นถึงขั้นที่ได้ลงหนังสือพิมพ์เดลินิวส์มาแล้ว
ท่านกล่าวไว้ว่า ที่เลือกปลูกคะน้าเพราะมีคนปลูกน้อย เนื่องจากเป็นผักที่มีโรคและแมลงเยอะ แต่ในทางกลับกัน หากเราสามารถทำได้ จะเปิดโอกาสให้สร้างกำไรงามกว่าผักชนิดอื่น จากการศึกษามานั้น อาศัยการรู้จักนิสัยใจคอของพืชอย่างคะน้าเป็นหลัก เราเป็นคนปลูกผักเราต้องรู้จักผักที่เราปลูก ไม่งั้นไม่มีวันที่เราจะทำสำเร็จ
ปัจจัยสำคัญในการปลูกผักคะน้านอกฤดู ให้ได้ผลดี
ผู้ปลูกควรที่จะรอบรู้ในเรื่องลักษณะของพืชชนิดนี้ โรคต่างๆ วิธีป้องกันแก้ไข รวมถึงธรรมชาติในการเจริญเติบโตของคะน้า ต้องหมั่นคอยดูแล สังเกตและทดลองเปรียบเทียบพิสูจน์ผลดูอยู่อย่างต่อเนื่อง ในการให้ปุ๋ยบำรุงต้นและใบนั้นหลังหว่านแล้ว ไม่ต้องให้ปุ๋ยบำรุงต้น แต่ปล่อยไปตามธรรมชาติ ซึ่งต้นจะแดงๆ แต่แข็งแรง แมลงไม่กวนไม่เป็นโรค หลังจากผ่านพ้นไป 37 วันไปแล้วค่อยให้ปุ๋ยบำรุงต้น บำรุงใบ รับรองไม่ว่าต้นเล็กต้นใหญ่ก็โตเท่ากันหมด ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านคะน้าอย่างคุณปฐพี ได้กล่าวไว้
สาเหตุสำคัญที่คะน้าที่มีการปลูกแบบทั่วไปไม่รอด นั่นคือ คะน้าเป็นผักเมืองหนาว และไม่ทนร้อน อากาศหนาวเย็นแบบนี้เหมาะกับการปลูกคะน้ามากที่สุด และในขณะที่บ้านเรานั้น ช่วงเดือนเมษายนอากาศจะร้อนมาก แต่เกษตรกรมักจะรดน้ำผักในตอนเช้าจนชุ่ม โดยลืมนึกไปว่า น้ำจะคายความร้อนช้ากว่าดิน ฉะนั้นตอนกลางวันอุณหภูมิจะสูงขึ้น อาจสูงถึงประมาณ 60-70 องศา จนทำให้คะน้าเกิดรากเน่า และตายไปในที่สุด
วิธีการที่ดีในการปลูกคะน้านอกฤดู ก็คือ ในตอนเย็นให้รดน้ำในแปลงปลูกให้ชุ่มโชก ส่วนในตอนเช้าก็มารดน้ำอีกครั้งเพื่อล้างน้ำค้าง แต่ให้รดน้ำในปริมาณที่ไม่ต้องมาก เพราะน้ำค้างอาจทำให้เกิดเชื้อราทางใบได้ พอประมาณ 10 โมงดินเริ่มร้อน ก็ให้รดน้ำอีกครั้งแบบโฉบๆ พอบ่ายสองโมงก็โฉบๆ อีกครั้ง เพื่อลดอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตลอดทั้งวัน พอทำแบบนี้แล้วหลังจากที่ทดสอบมาก็ได้ผล คือต้องขยันรดน้ำวันละประมาณ 4-5 ครั้ง และไปหนักเอาในตอนเย็น สรุปคือ
การปลูกคะน้านอกฤดู สิ่งสำคัญที่ทำให้ได้ผล คือการรดน้ำ
- ตอนเย็นให้รดน้ำในแปลงปลูกให้ชุ่มโชก
- ตอนเช้าก็มารดน้ำเล็กน้อย เพื่อล้างน้ำค้าง
- 10 โมงเช้า ให้รดแบบโฉบไปมา
- บ่ายสองโมงก็โฉบอีกครั้งเพื่อลดอุณหภูมิ
เคล็ดลับจึงไปอยู่ที่การรดน้ำ วันละ 4-5 ครั้ง แต่ไม่แฉะจนทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่า
ธรรมชาติของคะน้า
ผักคะน้าเป็นผักอายุ 2 ปี แต่ปลูกเป็นผักฤดูเดียว อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 45-55 วัน ผักคะน้าสามารถปลูกได้ตลอดปี แต่เวลาที่ปลูกได้ผลดีที่สุดในช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน คือปลายๆ ฤดูฝน ถึงสิ้นสุดฤดูหนาว ซึ่งคะน้าที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ด้วยกันคือ
- พันธุ์ใบกลม มีลักษณะใบกว้างใหญ่ ปล้องสั้น ปลายใบมนและผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ได้แก่ พันธุ์ฝางเบอร์ 1
- พันธุ์ใบแหลม เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะใบแคบกว่าพันธุ์ใบกลม ปลายใบแหลม ข้อห่าง ผิวใบเรียบ ได้แก่ พันธุ์ P.L.20
- พันธุ์ยอดหรือก้าน มีลักษณะใบเหมือนกับคะน้าใบแหลม แต่จำนวนใบต่อต้นมีน้อยกว่า ปล้องยาวกว่า ได้แก่ พันธุ์แม่โจ้ 1
โรคและแมลงศัตรูพืชของผักคะน้าในช่วงนอกฤดูกาลที่ต้องระวัง
โดยปกติโรกและแมลงเหล่านี้จะระบาดอยู่แล้วในช่วงของฤดูกาลสำหรับพืชผักสวนครัวในแปลงปลูก และแม้จะปลูกนอกฤดูกาลก็ไม่พ้นการระบาด จึงต้องคอยควบคุมให้ดี
โรคเน่าคอดินของคะน้า
เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในแปลงต้นกล้าเท่านั้น เนื่องจากการหว่านเมล็ดที่แน่นทึบ อับลม และต้นเบียดกันมาก ถ้าในแปลงมีเชื้อโรคแล้วต้นกล้าจะเกิดอาการเป็นแผลช้ำที่โคนต้นระดับดิน เนื้อเยื่อตรงแผลจะเน่าและแห้งไปอย่างรวดเร็ว ถ้าถูกแสงแดดทำให้ต้นกล้าหักพับ ต้นเหี่ยวแห้งตายในเวลารวดเร็ว บริเวณที่เป็นโรคจะค่อยๆ ขยายกว้างออกไปเป็นวงกลม ภายในวงกลมที่ขยายออกไปจะไม่มีต้นกล้าเหลืออยู่เลย ส่วนกล้าที่โตแล้วจะค่อยๆ เหี่ยวตายไป
การป้องกันกำจัดโรคเน่าคอดินของคะน้า
ไม่ควรหว่านเมล็ดคะน้าให้แน่นเกินไป ควรตากดินเพื่อกำจัดเชื้อราในดินโดยตรงก่อนลงปลูกจะได้ผลดียิ่งขึ้น อย่าให้น้ำขังแฉะในแปลงขณะเป็นต้นกล้า หรือยกแปลงนูนสูงเพื่อให้ระบายน้ำให้เร็วด้วย
โรคราน้ำค้างของคะน้า
ใบจะเป็นจุดละเอียดสีดำอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ด้านใต้ใบ ตรงจุดเหล่านี้จะมีราสีขาวอมเทาอ่อนคล้ายผงแป้งขึ้นเป็นกลุ่มๆ กระจายทั่วไป โรคนี้ไม่ทำให้ต้นคะน้าตาย แต่ทำให้น้ำหนักลดลง เพราะต้องตัดใบที่เป็นโรคทิ้ง ทำให้ได้น้ำหนักน้อยลง
การป้องกันกำจัดโรคราน้ำค้างของคะน้า
ในตอนเช้าควรรดน้ำใบต้นคะน้าเพื่อชะล้างน้ำค้างต้นเหตุให้เกิดราน้ำค้างคะน้า
โรคแผลวงกลมสีน้ำตาลไหม้
ใบแก่ที่อยู่ด้านล่างของลำต้นจะเป็นโรคนี้มาก ใบที่เป็นโรคจะมีแผลวงกลมสีน้ำตาลซ้อนกันหลายชั้น เนื้อเยื่อรอบๆ แผลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองขนาดของแผลมีทั้งใหญ่และเล็ก บนแผลมักจะมีเชื้อราขึ้นบางๆ มองเห็นเป็นผงสีดำ เนื้อเยื่อบุ๋มลงไปเล็กน้อย
การป้องกันกำจัดโรคแผลวงกลมสีน้ำตาลไหม้
การป้องกันก็คือในตอนเช้าให้รดน้ำชะล้างเชื้อราต่างๆ แต่ไม่ควรให้ชุ่มมากเพราะรากจะเน่าได้ และควรเด็ดใบที่มีแผลทิ้งออกห่างจากแปลงปลูก
หนอนกระทู้ผัก
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกคู่หน้ามีจุดสีน้ำตาลเข้ม มีลวดลายเต็มปีก ส่วนปีกคู่หลังสีขาวและบาง ลำตัวมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมอยู่ ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มๆ ตัวเมียวางไข่ได้ประมาณ 200-300 ฟอง หนอนจะกัดกินใบและก้านใบของคะน้า มักจะเข้าทำลายเป็นหย่อมๆ ตามจุดที่ผีเสื้อวางไข่ หนอนชนิดนี้สังเกตได้ง่ายคือ ลำตัวอ้วนป้อม ผิวหนังเรียบ คล้ายหนอนกระทู้หอม มีสีสันต่างๆ กัน มีแถบสีขาวข้างลำตัวแต่ไม่ค่อยชัดนัก เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 3-4 เซนติเมตรเคลื่อนไหวช้า
การป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ผัก
หมั่นตรวจดูสวนผักบ่อยๆ เมื่อพบหนอนกระทู้ฟักให้ทำลายไข่ ตัวหนอน หรือใบหรือต้นที่เจอหนอนนั้นเสีย เพราะอาจมีไข่หนอนอยู่รอบๆ บริเวณนั้น
หนอนคืบกะหล่ำ
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อขนาดกลาง หนอนคืบกะหล่ำเป็นหนอนที่กินจุ เข้าทำลายคะน้าในระยะที่เป็นตัวหนอน โดยจะกัดกินเนื้อใบจนขาดและมักจะเหลือเส้นใบไว้หนอนชนิดนี้เมื่อเกิดระบาดแล้วจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมาก
การป้องกันกำจัดหนอนคืบกะหล่ำ
ตรวจดูไข่หรือตัวหนอนในระยะเล็กๆ หากพบให้กำจัดเสียหรือถอนต้นกำจัดเสีย
ก็หวังว่า ท่านผู้อ่านจะได้นำเทคนิคและเคล็ดลับนี้ไปทดลองปลูกคะน้านอกฤดูกาล ทดลองตอนนี้อากาศกำลังเย็นดี เห็นเค้าว่าปี 64 นี้ อากาศจะหนาวยาวนานกว่าปีก่อน ก็หวังให้เป็นอย่างนั้นนะ
ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ ล่าสุดในตอนนี้
การดูแลและฟื้นฟูต้นไม้หลังน้ำท่วม
ประเทศไทยในยุคนี้ ดูเหมือนน้ำจะท่วมทุกปีแล้วล่ะ อาจเพราะเราบริหารจัดการน้ำกันไม่ดีพอ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมสร้างรายได้ด้วยการปลูกสละ
จากข้อมูลที่แนะนำเข้ามา ว่าการปลูกสละ สามารถสร้างรายได้ ได้ตลอดทั้งปีนั้น สอบถามไปยังคุณลุงสว่าง รัก
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมการแก้ปัญหาดินเค็ม ให้สามารถปลูกพืชผักได้
ปัญหาดินเค็ม เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พบเจอกับผม เนื่องจากปีก่อนโดนน้ำท่วมหนัก เลยต้องวางโครงการปลูกบ้าน
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเศษอาหารและใบไม้ ใช้ทำปุ๋ยอะไรได้บ้าง
ปัญหาดินขาดปุ๋ยและธาตุอาหาร เพราะสภาพดินไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก หรือมีสาเหตุอื่น เช่น มีสารเคมีสะสมใน
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมข้าวลืมผัว ข้าวเหนียวที่อร่อยจนลืมเหลือให้ผัวจริงหรือ
พันธุ์ข้าวเหนียวที่หญิงส่วนใหญ่ได้กิน อร่อยจนลืมผัวจริงหรือ? จากต้นกำเนิดข้าวเหนียวแดง ตระกูลข้าวก่ำ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมบัวบกโขด ทุกเรื่องน่ารู้อยู่ที่นี่
บัวบกโขด ไม้โขดที่ทำรายได้เติบโตอย่างสูง โดยไม่ง้อว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แม้ทุกพื้นที่ในโลกนี้
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม
บทความเกษตรน่าสนใจ
แนะนำบทความเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ และน่าติดตาม บทความยอดนิยม
แนะนำบทความยอดนิยม ในหมวดต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับสมาชิกที่ต้องการเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์แบบพอเพียง และยั่งยืน เนื้อหาเข้าใจง่าย ทำได้จริง จากผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรโดยตรง
จัดสวนสมุนไพรไว้หน้าบ้าน ดีหลายอย่าง
ปลูกพริกชี้ฟ้าให้ได้ผลใหญ่ลูกดก
ผักปลอดภัยภายใต้ระบบ GAP คืออะไร